กระหม่อมลูกจะปิดเมื่อไหร่?

คุณแม่มือใหม่ สัมผัสโดนบริเวณกระหม่อม โดยเฉพาะกระหม่อมหน้าที่ยังไม่ปิดชัดเจนจะรู้สึกตกใจ เนื่องจากสัมผัสได้เนื้อใต้กระโหลกนิ่มๆ เกรงว่าจะกระทบกระเทือน และลูกรักจะเจ็บได้วันนี้มีวิธีการดูแลมาฝากค่ะ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกระหม่อมหนูน้อยกันค่ะ

กระหม่อมหน้า ( Anterior fontanel ) มีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาดของกระหม่อมหน้าวัดทางด้าน Coronal suture กว้าง 2 -3 เซนติเมตร และวัดทางด้าน Saggital sutrue กว้าง 3-4 เซนติเมตร ดังนั้นกระหม่อมหน้าจึงมีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร x 3 – 4 เซนติเมตร จะปิดสนิทเมื่อหนูน้อยมีอายุ 12-18 เดือน

กระหม่อนหลัง ( Posterior fontanel ) มีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดของกระหม่อมหลังกว้าง ประมาณ 1เซนติเมตร -2เซนติเมตร อาจปิดตั้งแต่แรกเกิด หรือปิดสนิทเมื่ออายุ 2 เดือน

กระหม่อมลูกน้อยจะปิดเมื่อไหร่

กระหม่อมเป็นส่วนของกะโหลกศีรษะ ซึ่งอยู่ถัดจากส่วนที่สูงที่สุดลงมาในแนวกลางใกล้หน้าผาก เป็นส่วนที่ยังเชื่อมต่อกันไม่สนิท จนเกิดเป็นช่องว่าง ๆ นิ่ม ๆ บนศีรษะ กดแล้วบุ๋ม จะมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ กระหม่อมหน้าที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และกระหม่อมหลังที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า กระหม่อมหน้าจะปิดเมื่ออายุประมาณ 12 -18 เดือน ส่วนกระหม่อมหลังจะปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไปค่ะ

วิธีดูแลกระหม่อมลูกที่ยังปิดไม่สนิท

ช่วงที่กะโหลกส่วนนั้นยังเป็นเนื้อเยื่อปิดอยู่ ยังไม่เป็นกระดูกแข็งนี้ ต้องระวังไม่ให้ถูกกระแทก หรือถูกความร้อนจัดเย็นจัด เพราะกระหม่อมบาง คนที่เป็นหวัดง่ายเมื่อกระทบอากาศร้อนหรือเย็น ก็มักเรียกกันว่าคนกระหม่อมบาง โดยเปรียบกับเด็กทารกนั่นเอง แต่คุณแม่ก็อย่าได้กังวลที่จะสัมผัสกระหม่อมลูก เพียงระวังไม่กดหรือกระทบแรง ๆ ก็พอ หมั่นสัมผัสตรวจกระหม่อมด้วยนะคะ ถ้าคลำแล้วพบว่าบุ๋มลงไปมาก ลูกซึม ไม่เล่น ไม่ยิ้ม ไม่ร่าเริงเช่นเคย ดวงตาโหลลึก ลูกอาจมีอาการขาดน้ำรุนแรง หรือถ้าพบว่ากระหม่อมโป่งพอง ไม่เต้นตุบ ๆ ไปตามจังหวะการเต้นของชีพจร แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง ควรพาลูกไปพบกุมารเเพทย์ ทันทีค่ะ